Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพหรือความสำเร็จของระบอบการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำโขงภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขง (ค.ศ. 1957-1994) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (ค.ศ. 1995-2008) กับแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริส ภายใต้คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (ค.ศ. 1980-1993) พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าประสิทธิภาพหรือระดับความสำเร็จของระบอบการจัดการแม่น้ำทั้งสองแห่งนั้นมีสาเหตุจากปัจจัยใด จากการศึกษาพบว่า 1) โดยอ้างอิงแนววิเคราะห์ของ Arild Underdal เกี่ยวกับเป้าหมายการวัดประเมินประสิทธิภาพระบอบการจัดการสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพหรือความสำเร็จของระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริสมีระดับต่ำกว่าระบอบการจัดการแม่น้ำโขงอย่างมาก กล่าวคือ ระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริสประสบความสำเร็จในระดับต่ำ เนื่องจากไม่อาจก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ ตลอดจนผลลัพธ์ซึ่งเป็นผลจากการนำข้อตกลงร่วมกันภายใต้ระบอบไปปฏิบัติหรือบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริสสามารถกระตุ้นให้ภาคีสมาชิกหันหน้ามาประสานงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน อันถือเป็นผลข้างเคียงของระบอบ ในขณะที่ระบอบการจัดการแม่น้ำโขงประสบความสำเร็จบางส่วน เนื่องจากระบอบสามารถก่อให้เกิดผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก แต่การนำผลผลิตไปบังคับใช้นั้นยังคงจำกัดอยู่เพียงบางด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษาวิจัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับเชิงสถาบัน ในขณะที่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้น้ำไม่มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของรัฐได้อย่างชัดเจน ในด้านผลข้างเคียง ระบอบการจัดการแม่น้ำโขงสามารถจูงใจให้จีนระงับการเดินหน้าดำเนินโครงการปรับปรุงเส้นทางเดินเรือพาณิชย์บนลำน้ำโขงตอนบนได้ 2) โดยการจัดกลุ่มปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบอบการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศออกเป็น 5 กลุ่มตามแนววิเคราะห์ของ Stefan Lindemann ได้แก่ ปัจจัยเชิงปัญหา ปัจจัยเชิงกระบวนการ ปัจจัยเชิงสถาบัน ปัจจัยจำเพาะภายในรัฐ และปัจจัยเชิงบริบทระหว่างรัฐ พบว่า ประสิทธิภาพของระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริสที่มีระดับต่ำกว่าระบอบการจัดการแม่น้ำโขงนั้นเป็นเพราะระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริส เผชิญกับปัจจัยเชิงลบมากกว่าระบอบการจัดการแม่น้ำโขง กล่าวคือ ระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริสเกี่ยวข้องกับปัจจัยเชิงลบเกือบทุกปัจจัยจากกลุ่มปัจจัยทั้ง 5 กลุ่ม ในขณะที่ระบอบการจัดการแม่น้ำโขงเกี่ยวข้องกับปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบซึ่งมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าระบอบการจัดการแม่น้ำยูเฟรตีส-ไทกริส อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพที่สูงกว่าของระบอบการจัดการแม่น้ำโขงมีส่วนอย่างมากจากการได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากตัวแสดงภายนอก