Abstract:
ศึกษาถึงกระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ตามบทบัญญัติของมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาของกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวและหาข้อเสนอแนะ เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเทศไทยประสบผลสำเร็จ จากการศึกษาพบว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เกิดจากกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เช่น การที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนที่ต้องการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อประชาชน ขั้นตอนการตรวจสอบลายมือชื่อและเอกสาร รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภา ที่ไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน การที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ตัวแทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต่อที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรรมาธิการวิสามัญในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา
การที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียงลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การที่อายุของสภาสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการแทรกแซงกระบวนการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยรัฐสภา ซึ่งส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยประชาชนให้มีความชัดเจนและเหมาะสม ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนให้มีความแน่นอน การบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การออกเสียงลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การกำหนดให้รัฐสภาชุดใหม่ต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ตกไปในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาชุดก่อน หรือการไม่ให้รัฐสภาเข้าแทรกแซงกระบวนการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อมิให้ขัดต่อหลักประชาธิปไตยทางตรง