Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ ต้องการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการควบคุมความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 และอำนาจการทดสอบของตัวสถิติที่ใช้ตรวจสอบอัตตสหสัมพันธ์ ของความคลาดเคลื่อนในสถานการณ์ดังต่อไปนี้ 1) เปรียบเทียบสถิติ 3 วิธี คือ ตัวสถิติเดอร์บินวัตสัน บูทสแตรปเดอร์บินวัตสัน และ บูทสแตรปโรล ในการตรวจสอบอัตตสหสัมพันธ์ตำแหน่งที่ 1 2) เปรียบเทียบสถิติ 3 วิธี คือ ตัวสถิติวอลลิส บูทสแตรปวอลลิส และบูทสแตรปโรล และในการตรวจสอบอัตตสหสัมพันธ์ตำแหน่งที่ 4 เมื่อจำนวนตัวแปรอิสระเท่ากับ 1, 2 และ 5 และกำหนดขนาดตัวอย่างที่ทำการศึกษา คือ 15, 20, 50, 60, 90 และ 100 สำหรับในแต่ละสถานการณ์ ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้จากการทดลองด้วยเทคนิคมอนติคาร์โล โดยจำลองการทดลองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ 1000 ครั้ง สำหรับแต่ละสถานการณ์ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความสามารถในการควบคุมความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 เมื่อมีอัตตสหสัมพันธ์ ตำแหน่งที่ 1 ตัวสถิติบูทสแตรปเดอร์บินวัตสัน และ บูทสแตรปโรล สามารถควบคุมความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 ได้ในทุกกรณี และเมื่อมีอัตตสหสัมพันธ์ ตำแหน่งที่ 4 ตัวสถิติบูทสแตรปวอลลิส และ บูทสแตรปโรล สามารถควบคุมความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 ได้ในทุกกรณี 2. อำนาจการทดสอบ เมื่อมีอัตตสหสัมพันธ์ ตำแหน่งที่ 1 โดยทั่วไปตัวสถิติบูทสแตรปเดอร์บินวัตสันให้อำนาจการทดสอบสูงที่สุด และเมื่อมีอัตตสหสัมพันธ์ ตำแหน่งที่ 4 ตัวสถิติบูทสแตรปวอลลิส จะให้ค่าอำนาจการทดสอบที่สูงสุด