Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์วิทยานิพนธ์ทางการศึกษาคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ทักษะ ได้แก่ การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ การให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ การสื่อสาร สื่อความหมายทางคณิตศาสตร์และการนำเสนอ การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ เป็นวิทยานิพนธ์ที่เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2551 จำนวน 147 เล่ม จาก 8 มหาวิทยาลัย เครื่องมือใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกรายละเอียดของวิทยานิพนธ์และแบบบันทึกผลการสังเคราะห์วิทยานิพนธ์ วิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือจากความสอดคล้องของกรอบการสังเคราะห์และผลการสังเคราะห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การสังเคราะห์เชิงปริมาณโดยใช้ความถี่และร้อยละ และสังเคราะห์เชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการสังเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับปริญญาโทมากที่สุด ส่วนใหญ่เผยแพร่ในช่วงหลังการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เน้นงานวิจัยเชิงกึ่งทดลอง วัตถุประสงค์มุ่งเปรียบเทียบความสามารถระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มปกติ วิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ทำการศึกษาตัวแปรตาม 2 ตัวแปร ตัวแปรหลักที่ทำการศึกษามากที่สุด ได้แก่ การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยมีการศึกษาร่วมกับตัวแปรอื่นๆ วิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่มีประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ผลการสังเคราะห์เชิงคุณภาพ พบว่า วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ มีการสร้างหน่วยการเรียน มีรูปแบบที่ใช้ในการสอนหลากหลาย เน้นการทำกิจกรรมกลุ่ม ใช้สื่อเทคโนโลยี และสื่อวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการเรียนการสอน มีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการวัดแต่ละทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกันจำแนกตามทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ดังนี้ 1.การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาตามลำดับขั้นตอนและมีการใช้เครื่องคำนวณเชิงกราฟและเครื่องคิดเลข และนักเรียนที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์สูง ได้แก่ นักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย 2.การให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ มีการพัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลและใช้สื่อสิ่งพิมพ์ให้หาคำตอบพร้อมอธิบายเหตุผล 3. การสื่อสาร สื่อความหมายทางคณิตศาสตร์และการนำเสนอ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือในการหาคำตอบร่วมกันเป็นกลุ่มและเขียนแสดงผังความคิด 4.การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เน้นการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง 5.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ มีการพัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการแสดงความหลากหลายของคำตอบและวิธีการหาคำตอบ ลักษณะของนักเรียนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์สูง ได้แก่ นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูง