Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อศึกษาผลของข้อสอบที่เกิดการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบ (DIF) และการทำหน้าที่ต่างกันของตัวลวง (DDF) ในแบบสอบประเมินความรู้วิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2. เพื่อศึกษาผลของข้อสอบที่ทำหน้าที่ต่างกัน และผลของตัวแปรคุณลักษณะของนักเรียนและสถานศึกษาต่อการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์เมื่อใช้โมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาต่างกัน 4 โมเดล และ 3. เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพโมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อใช้โมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา 4 โมเดล ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์หรือ TIMSS ปี 2007 กลุ่มตัวอย่างของโครงการประกอบด้วย นักเรียน ครูคณิตศาสตร์ ที่สอนนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยและผู้บริหารสถานศึกษาที่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างศึกษา จำนวน 150 สถานศึกษา และจำนวนนักเรียน 5,412 คน โดยศึกษาเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ จากแบบสอบประเมินความรู้วิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 14 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการใน 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบและการทำหน้าที่ต่างกันของตัวลวง ด้วยโปรแกรม DDFS 1.0 ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มในโมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา โดยประยุกต์ใช้โมเดลมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Model) ด้วยโมเดลเชิงเส้นตรงแบบลดหลั่น (HLM) ด้วยการวิเคราะห์ 2 ระดับ และขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ประกอบด้วย 4 โมเดลที่ต่างกัน คือ โมเดล 1 “Undetected DIF-DDF & Adjusted” โมเดล 2 “Detect DIF & Adjusted” โมเดลที่ 3 “Detect DIF-DDF & Unadjusted” โมเดล 4 “Detect DIF-DDF & Adjusted”
ผลการวิจัยพบว่า 1. ตัวแปรเพศเป็นคุณลักษณะที่พบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบ และการทำหน้าที่ต่างกันของตัวลวงในแบบสอบวิชาคณิตศาสตร์ มากที่สุด โดยพบว่าข้อสอบส่วนใหญ่ที่เกิดการทำหน้าที่ต่างกัน (DIF) มีจำนวนข้อสอบที่เพศหญิงมีโอกาสที่จะตอบถูกมากกว่าเพศชาย ในขณะที่ข้อสอบที่เกิดการทำหน้าที่ต่างกันของตัวลวง (DDF) ข้อสอบส่วนใหญ่เพศชายมีโอกาสที่จะเลือกตอบมากกว่าเพศหญิง 2. ผลของข้อสอบที่ทำหน้าที่ต่างกันในแบบสอบวิชาคณิตศาสตร์ต่อการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า ข้อสอบที่ทำหน้าที่ต่างกันในแบบสอบวิชาคณิตศาสตร์ไม่มีผลต่อการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา (จากการเปรียบเทียบ โมเดล 1 และ 2, โมเดล 1 และ 4, โมเดล 2 และ 4) ส่วนผลของตัวแปรคุณลักษณะของนักเรียนและสถานศึกษาต่อการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าคุณลักษณะของนักเรียนและสถานศึกษา มีผลต่อการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยการการจัดอันดับคุณภาพการจัดการศึกษา ระหว่างโมเดล 1 และ 3, โมเดล 2 และ 3 และระหว่างโมเดล 3 และ 4 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. การเปรียบเทียบประสิทธิภาพโมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าโมเดลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ที่มีการควบคุมอิทธิพลของตัวแปรระดับนักเรียน และระดับสถานศึกษาให้ผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาวิชำคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกัน โดยโมเดล 4 มีค่าสัมประสิทธิ์การทำนาย (R²) สูงสุดเท่ากับ 52.04% รองลงมาได้แก่โมเดล 1 และโมเดล 2 ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์การทำนาย (R²) เท่ากับ 51.96% และ 51.86% ตามลำดับ