Abstract:
การศึกษากระบวนการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ระหว่างจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดปทุมธานี ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยที่มีลักษณะการสมทบเงินของทางภาครัฐเพื่อการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยที่รูปแบบการสมทบเงินหรือการบริจาคผ่านมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก มีขั้นตอนหรือกระบวนการในการแจกจ่ายเงินไปในแต่ละภาคส่วนให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อนำเงินไปปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ ลักษณะสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ รวมทั้งศึกษากระบวนการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและลักษณะที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางกระบวนการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและลักษณะที่อยู่อาศัยที่แตกต่างระหว่างจังหวัดสิงห์บุรี และ จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำข้อดีที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวอย่างและแนวทางในการพัฒนาต่อไป ทางผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการศึกษา คือ พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสิงห์บุรี โดยประชากรกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จังหวัดละ 10 คน และ นักพัฒนาสังคมจังหวัดปทุมธานีและนายช่างฝ่ายโยธาจังหวัดปทุมธานี อีกทั้งสิ้น 10 คนและนักพัฒนาสังคมและฝ่ายช่างองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม จังหวัดสิงห์บุรี อีก 2 คน
ผลการศึกษา พบว่า ลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในจังหวัดสิงห์บุรีมีการยกใต้ถุนสูงมาก เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานและมีการปรับปรุงโดยใช้วัสดุพื้นถิ่น (ไม้ไผ่)ส่วนจังหวัดปทุมธานีมีบ้านชั้นเดียวและสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ซึ่งนำไปสู่การใช้สอยพื้นที่และการทำกิจกรรมบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ต่างกัน นอกจากนี้กระบวนการปรับปรุงซ่อมแซมระหว่าง 2 จังหวัดที่เกิดขึ้น มีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่รูปแบบการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จังหวัดสิงห์บุรีมีการทำประชาคมของคนในหมู่บ้าน ในขณะที่ปทุมธานีเป็นการคัดเลือกจากทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี และกระบวนการดำเนินงานของจังหวัดสิงห์บุรีเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนโดยองค์การบริหารส่วนตำบล ในขณะที่ปทุมธานีมีกระบวนการดำเนินงานผ่านทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทั้งสองจังหวัดมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยที่เกิด
ในการคำนึงถึงกระบวนการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและลักษณะที่อยู่อาศัย ปัจจัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบตัวอย่างเพื่อให้เกิดการทำงานที่ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือผู้ที่ประสบปัญหาจริง มีคุณภาพชีวิตหรือการยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น โดยแนวทางกระบวนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำขั้นตอนที่รวดเร็ว ไม่ให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการ ซึ่งแนวทางที่เสนอไปจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไปสู่การปฏิบัติ จากการศึกษาพบว่าข้อจำกัดของหน่วยงานท้องถิ่นถือเป็นอุปสรรคในการจัดทำ โดยยังขาดความรู้ความเข้าใจแบบก่อสร้าง ดังนั้นแนวทางในการแก้ไข คือ การทำความเข้าใจต่อแบบก่อสร้าง และมีการบริหารจัดการงบประมาณให้เหมาะสม ซึ่งแนวทางการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ศึกษากลายเป็นพื้นที่ต้นแบบทางด้านผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยการต่อยอดงานวิจัยฉบับนี้จะเป็นการติดตามผลกระบวนการดำเนินงานและประเมินความสำเร็จหรือข้อผิดพลาดของโครงการที่เกิดขึ้นจริง