Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์แนวคิดและแนวทางขององค์กรแห่งความสุข วิเคราะห์และเปรียบเทียบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับองค์กรภาคเอกชนตามแนวคิดองค์กรแห่งความสุข สำรวจระดับสุขภาวะของบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และพัฒนายุทธศาสตร์การบริหารการเปลี่ยนแปลงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ (1) ผู้เชี่ยวชาญเรื่ององค์กรแห่งความสุข 7 ท่าน (2) ผู้บริหารองค์กรแห่งความสุขภาคเอกชน 5 ท่าน (3) ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 7 ท่าน (4) บุคลากรสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 405 คน (5) ผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมกลุ่มย่อย 3 ท่าน (6) ผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมอิงผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบวิเคราะห์สาระ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบตรวจสอบความเหมาะสมของร่างยุทธศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์สาระ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (PNI Modified) ในการจัดลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. มิติสุขภาวะตามแนวคิดองค์กรแห่งความสุขมี 6 มิติ ประกอบด้วย (1) มิติสุขภาพ (2) มิติครอบครัว (3) มิติเศรษฐกิจ (4) มิติการทำงาน (5) มิติสังคมและสิ่งแวดล้อม (6) มิติปัญญา สำหรับแนวทางสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข 3 แนวทาง ประกอบด้วย (1) ผู้นำองค์กรใช้แนวคิดองค์กรแห่งความสุขพัฒนาองค์กร (2) การจัดตั้งหน่วยงานดำเนินงานด้านองค์กรแห่งความสุข และ (3) การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข 2. การวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับองค์กรภาคเอกชนตามแนวคิดองค์กรแห่งความสุข พบว่า ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ความสำคัญตรงกับผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย (1) ด้านทรัพยากรบุคคล คือ การจัดฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (2) ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม คือ การปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีสภาพแวดล้อมให้ร่มรื่น สุขสบาย ไม่มีมลพิษ และการจัดเครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการทำงานที่มีคุณภาพดีและทันสมัย (3) ด้านการบริหารจัดการทั่วไป คือ การทำงานแบบเอื้ออาทร การทำงานเป็นทีม และการเปิดโอกาสให้บุคลากรแสดงความคิดเห็น (4) ด้านการเงิน ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนให้ความสำคัญในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่สูงกว่ามาตรฐานแรงงาน หรือการจ้างงานทั่วไป และการแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้บุคลากร เช่น เงินพิเศษ โบนัส แตกต่างกับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการให้ทุนการศึกษาสำหรับบุตรของบุคลากร 3. ผลการสำรวจระดับสุขภาวะของบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พบว่า ความจำเป็นเร่งด่วนและควรมีการแก้ไขทันที อันดับที่ 1 คือ การดำเนินการจัดศูนย์เลี้ยงดูบุตรของบุคลากร รองลงมาคือ การให้โบนัสตามผลประกอบการประจำปี และมีสวัสดิการรถประจำทางฟรี 4. ยุทธศาสตร์ที่นำเสนอ คือ Happy HERMES Strategies ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ 20 กลยุทธ์ 102 โครงการ/กิจกรรม ประเด็นยุทธศาสตร์ 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างเสริมบุคลากรมีความสุขกับสุขภาวะดี (Happy Healthiness) (2) การพัฒนาบุคลากรให้มีความสุขด้วย ความฉลาดทางอารมณ์ (Happy Emotional Quotient) (3) การสนับสนุนบุคลากรมีความสุขกับการมี ความรับผิดชอบ (Happy Responsibility) (4) การส่งเสริมบุคลากรสร้างสุขทางการเงิน (Happy Money) (5) การสร้างความผูกพันระหว่างบุคลากรกับองค์กร (Happy Engagement) (6) การส่งเสริมให้บุคลากรมีความสุขจากการเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Happy Stakeholder)