Abstract:
การบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขมีลักษณะเหมือนกับประเทศอื่นๆ ปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากปัจจัยด้านสุขภาพ ส่งผลทางอ้อมต่อสถานะทางสุขภาพของประชาชน ในขณะที่การจัดบริการสุขภาพในระดับท้องถิ่นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ จากหลายมุมมองพบว่า ตำบลนั้นมีศักยภาพสูงที่สุด โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพและไม่ใช่ด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผลการดูแลสุขภาพประชาชนระหว่างสองหน่วยงานในระดับตำบลที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานการดูแลสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะการสร้างความชัดเจนในการจัดบริการสุขภาพ ซึ่งมีความทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานทั้งสองในระดับตำบล การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดของภารกิจการดูแลสุขภาพประชาชนระดับตำบล โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ร่วมกับมีการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจแนวคิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น มีการปรับปรุงการใช้ภาษาของกิจกรรมการดูแลสุขภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพระดับตำบล และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพแบบสอบถามได้รับการพัฒนาตามประเด็นที่พบเพื่อระบุกิจกรรมการดูแลสุขภาพของทั้งสองหน่วยงานในการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ รวมทั้งการศึกษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการของผู้ให้บริการภาครัฐระดับตำบล เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ มีการตรวจสอบความถูกต้องของแบบสอบถามให้ตรงตามเนื้อหาก่อนนำไปสำรวจข้อมูลจากผู้ให้บริการภาครัฐระดับตำบลของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวงสาธารณสุข สุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการแบ่งกลุ่มหลายขั้นตอน หลังจากนั้นนำแบบสอบถามไปขอความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจการดูแลสุขภาพที่มีการดำเนินการทั้งสองหน่วยงานในระดับตำบลจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เชิงอนุมาน ได้แก่การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ และพบว่าความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเป็นวิธีการที่เป็นนวตกรรมใหม่ จากการทบทวนเอกสารทางวิชาการพบกิจกรรมการดูแลสุขภาพจำนวน 393 กิจกรรม นำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงลักษณะการใช้ภาษาให้ชัดเจน สามารถจำแนกออกเป็น 595 กิจกรรม หลังจากสำรวจข้อมูลพบว่า มีตำบลตอบแบบสอบถามร้อยละ 73.0 (276/378)โดยจำแนกเป็นรพ.สต. 317 แห่ง และอบต. 135 แห่ง โดยมีผู้ปฏิบัติงานภาครัฐระดับตำบลตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 59.0 (441/748) ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจสามารถจำแนกภารกิจการดูแลสุขภาพได้ 3 ภารกิจ คือ (1) การจัดบริการรักษาพยาบาลและการให้คำปรึกษา (2) การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองบริโภคและ (3) การสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน การศึกษากิจกรรมการดูแลสุขภาพพบว่า กิจกรรมการดูแลสุขภาพที่ทั้งสองหน่วยงานเกี่ยวข้องและดำเนินการร่วมกันมีจำนวน 106 กิจกรรม (ร้อยละ 17.8) กิจกรรมการดูแลสุขภาพที่รพ.สต.ดำเนินการเองโดยมี อบต.ร่วมสนับสนุนด้านต่างๆ จำนวน 18 กิจกรรม (ร้อยละ13.0) กิจกรรมการดูแลสุขภาพที่ดำเนินการโดย รพ.สต.จำนวน 7 กิจกรรม (ร้อยละ 5.1) และกิจกรรมการดูแลสุขภาพที่ดำเนินการโดยอบต.เพียงหน่วยงานเดียว มีจำนวน 4 กิจกรรม (ร้อยละ 2.9) ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างบุคลากรของรพ.สต.และอบต.ซึ่งมีผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการจัดบริการสุขภาพระดับตำบล แบ่งได้เป็น 4 ระดับคือ มาก ปานกลาง น้อยและไม่มีความสัมพันธ์ ซึ่งพบว่าความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระดับมากพบในนายก อบต.กับบุคลากรของ รพ.สต. ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการในระดับปานกลางพบในรองนายก อบต.หรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกับบุคลากรของรพ.สต และความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการในระดับน้อยในกลุ่มบุคลากรของอบต.ตำแหน่งอื่นๆกับบุคลากรของรพ.สต. จากการสำรวจข้อมูลระดับตำบลพบว่าบุคลากรของรพ.สต.และอบต.มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระดับมากร้อยละ 58.5 ระดับปานกลางร้อยละ 12.0 ระดับน้อยร้อยละ7.4 และไม่มีความสัมพันธ์เลยร้อยละ 22.2 การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดภารกิจการดูแลสุขภาพของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวงสาธารณสุขโดยวิธีผสมผสานทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น คำสำคัญ: ภารกิจการดูแลสุขภาพ การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ผู้ให้บริการภาครัฐระดับพื้นที่ ประเทศไทย