Abstract:
เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้รับรางวัล 4 ปีซ้อนว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับที่ 1 และจุดท่องเที่ยวยอดนิยมในกรุงเทพฯ ก็อยู่ในเขตรัตนโกสินทร์ฯ จึงทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประเภทโรงแรมบูติค และปัจจุบันได้มีหลายประเทศที่นำอาคารทางประวัติศาสตร์มาพัฒนาและบริหารเป็นโรงแรมบูติค ดังเช่น Historichotelsworldwide.com ที่รวบรวมโรงแรมจากทั่วโลก โดยกำหนดว่าสถานที่นั้นจะต้องมีอายุมากกว่า 50 ปี อยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การให้รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจาก UNESCO วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) กระบวนการในการพัฒนาและบริหารอาคารเก่าทางประวัติศาสตร์มาเป็นโรงแรมบูติค 2) ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน/ระหว่าง/หลังกระบวนการพัฒนาและบริหารมาเป็นโรงแรมบูติค โดยดูในเรื่องกายภาพ การบริหารกิจการและบุคลากร การตลาด การบริการ และการเงิน มีวิธีวิจัยโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารของทั้ง 2 โรงแรม และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ค้นคว้าข้อมูลด้านเอกสาร งานวิจัย และเข้าสำรวจลักษณะทางกายภาพของกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง 2 โรงแรมมีกระบวนการในการพัฒนาและบริหารที่ต่างกันคือ จักรพงษ์วิลล่าได้พัฒนาอาคารเก่าในรูปแบบ Reconstruction ด้วยการสร้างเรือนไม้ทรงไทยขึ้นใหม่แทนเรือนเดิม โดยยังคงรักษาความแท้ในเรื่องของทำเลที่ตั้ง แผนผังของพื้นที่เดิม ขณะที่พระยาพาลาซโซได้พัฒนาในรูปแบบ Rehabilitation โดยปรับปรุงอาคารเก่าให้ตอบสนองต่อการใช้สอยในปัจจุบัน ทั้งนี้พยายามรักษาอาคาร วัสดุและสีให้เหมือนกับสมัยก่อนมากที่สุด ได้ติดต่อกรมศิลปากรเข้ามาช่วยเสนอแนะ ในส่วนบริการ จักรพงษ์วิลล่าให้บริการแบบ Bed & Breakfast ตามเวลาออฟฟิศซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่คุ้นเคยกับการบริการสไตล์นี้ ขณะที่พระยาพาลาซโซจะมีพนักงานต้อนรับตลอด 24 ชม. สิ่งที่เหมือนกันคือทั้ง 2 โรงแรมเริ่มต้นโครงการโดยมีอาคารทางประวัติศาสตร์เป็น Product lead ที่เจ้าของโครงการได้ศึกษาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวในแนวศิลปวัฒนธรรมเป็นชาวยุโรป มีการศึกษาระดับสูง ทำงานในระดับการจัดการและมีความสามารถในการจ่าย จึงออกแบบและตกแต่งภายในโครงการด้วยสไตล์ไทยโบราณ เน้นกลุ่มลูกค้าในระดับ Niche market ทั้ง 2 โรงแรมบริหารกิจการด้วยเจ้าของโครงการเอง มีวิสัยทัศน์ในเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จัดองค์กรตามหน้าที่ มีขนาดเล็กและไม่ซับซ้อน ซึ่งเป็นข้อดีในการปรับปรุงระบบการทำงานและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านหลายระดับชั้น พิถีพิถันในเรื่องการบริการและมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ทั้ง 2 โรงแรมไม่มีงบประมาณสำหรับการตลาด ใช้ช่องทางการจำหน่ายห้องพักผ่าน OTA เป็นหลัก และลงทุนโครงการทั้งหมดด้วยเงินส่วนตัวและการระดมทุนจากหุ้นส่วน ข้อค้นพบคือ เจ้าของมีพื้นฐานความรู้และชื่นชอบในงานศิลปะ มีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำให้อาคารเก่ากลับมามีชีวิต ไม่เน้นการคืนทุนที่สร้างกำไรให้อย่างมหาศาล แต่เน้นการคืนทุนทางจิตใจที่ได้สร้างคุณค่าให้กับอาคารทางประวัติศาสตร์ เหมาะสำหรับเจ้าของโครงการที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินและยังสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของ