Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคำนวณอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงธนาคาร โดยใช้แนวคิดของแบบจำลองการประเมินราคาสิทธิในการขาย (Put option ) และการศึกษาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยงธนาคารโดยใช้ fixed effect model ผลการคำนวณอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงธนาคาร พบว่า ธนาคารพาณิชย์โดยส่วนใหญ่มีอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงต่ำเมื่อกำหนดอัตราเงินนำส่งคงที่ร้อยละ 0.4 ของเงินฝากคุ้มครองในช่วงปี พ.ศ. 2546-2554 อีกทั้งพบว่าธนาคารส่วนใหญ่มีอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงสูงเมื่อกำหนดเก็บอัตราเงินนำส่งคงที่ร้อยละ 0.01 ของเงินฝากคุ้มครอง เพื่อเป็นการลดภาระเสี่ยงที่ผู้คุ้มครองเงินฝากต้องแบกรับ ควรกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท แทนการคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาทเมื่อลดอัตราเงินนำส่งคงที่ในอัตราร้อยละ 0.01 ของเงินฝากคุ้มครองในช่วงปีพ.ศ.2555-2556 ผลการศึกษาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยงธนาคาร พบว่าธนาคารมีพฤติกรรมชักนำความเสี่ยง โดยการเพิ่มระดับความเสี่ยงสินทรัพย์ (Asset risk) และอาศัยแหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้มากกว่าเงินทุนจากส่วนผู้ถือหุ้นซึ่งบอกถึงการผลักภาระความเสี่ยงไปยังผู้คุ้มครองเงินฝากเมื่อเก็บอัตราเงินนำส่งคงที่ นอกจากนี้พบว่าความเสี่ยงสินทรัพย์มีระดับที่ไม่มีความแตกต่างกันทั้งการคุ้มครองเงินฝากของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินและการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในขณะเดียวกันธนาคารมีอัตราส่วนการก่อหนี้หลังการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากน้อยกว่าอัตราส่วนการก่อหนี้ธนาคารก่อนการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งบอกถึงพฤติกรรมชักนำความเสี่ยงธนาคารในช่วงการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากน้อยกว่าพฤติกรรมชักนำความเสี่ยงธนาคารในช่วงการคุ้มครองเงินฝากของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน