Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึง 1) นโยบายด้านรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุขององค์กรสื่อโทรทัศน์ 2) ความต้องการเนื้อหารายการโทรทัศน์ของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการวิจัย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อทราบถึงนโยบายด้านรายการโทรทัศน์ขององค์กรสื่อโทรทัศน์ ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับกลุ่มตัวอย่างคือ บุคลากรของสถานีโทรทัศน์กลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุและบุคคลากรจากบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) และการเลือกแบบบอกต่อ (Snowball technique) และส่วนที่ 2 เพื่อทราบถึงความต้องการเนื้อหารายการโทรทัศน์ของผู้สูงอายุ ใช้การการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ด้วยเทคนิคการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) และเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) กับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน และใช้สถิติเชิงพรรณนาแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สถานีโทรทัศน์กลุ่มเป้าหมายที่ปรากฏรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุออกอากาศในงานวิจัยชิ้นนี้ ในส่วนของสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ที่เอกชนดำเนินงาน มีแนวโน้มพิจารณาและกำหนดนโยบายด้านรายการสำหรับผู้สูงอายุโดยเน้นคำนึงถึงอิทธิพลจากความนิยมของผู้ชมต่อรายการ หรือที่เรียกว่า เรตติ้ง (Rating) ของรายการเป็นหลัก เพื่อเป็นการตอบโจทย์ทางธุรกิจ เนื่องจากเรตติ้งถูกใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาลงโฆษณาในรายการใดรายการหนึ่งของผู้สนับสนุนรายการ (Sponsors) ในปัจจุบัน สอดคล้องกับสถานีโทรทัศน์กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ปรากฏรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุออกอากาศ ที่นโยบายด้านรายการจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนส่วนมาก (Mass) มากกว่าที่จะรายการโทรทัศน์ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม (Niche) ถึงแม้จะมีรายการบางประเภท เช่น รายการสุขภาพ รายการธรรมะที่ผู้สูงอายุน่าจะนิยมรับชม แต่เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจทำให้รายการประเภทนี้มีไม่เยอะมาก และไม่ออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ (Prime time) เพราะทำธุรกิจได้ยาก ไม่มีโฆษณามาลงรายการประเภทดังกล่าว เนื่องจากเรตติ้งของรายการไม่ตอบโจทย์ผู้สนับสนุนรายการ ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์กลุ่มเป้าหมายที่ปรากฏรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุออกอากาศในงานวิจัยชิ้นนี้ ในส่วนของสถานีโทรทัศน์สาธารณะนั้น นโยบายด้านรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มพิจารณาและกำหนดให้สอดคล้องไปกับทิศทางของพันธกิจองค์กรที่จะมีรายการตอบสนองกับทุกกลุ่มคน และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ของรัฐนั้น นโยบายด้านรายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มพิจารณาและกำหนดให้สอดคล้องประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ในฐานะเป็นสถานีโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า กลุ่มตัวอย่างรับชมรายการโทรทัศน์ทางเครื่องรับโทรทัศน์มากที่สุด โดยเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ผู้สูงอายุต้องการในระดับมากที่สุด ได้แก่ เนื้อหารายการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้มีร่างการที่แข็งแรง และการพัฒนาจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส ขณะที่เนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ผู้สูงอายุต้องการน้อยที่สุด ได้แก่ เนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี