Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศไทย สำหรับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างสำเร็จตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ โดยการศึกษาในครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเหตุผลและกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และหาข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้มีการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิและประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทราบว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขที่มีเหตุผลทางการเมืองและมีการแย่งชิงอำนาจกันของกลุ่มอำนาจทางการเมืองมากกว่าที่จะดำเนินการด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ หรือหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง จากการศึกษาพบว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไทยจะมีจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางอำนาจทางการเมืองก่อนเสมอ และนำไปสู่ประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เงื่อนไขของการแก้ไขหรือไม่แก้ไขนั้นมีแต่เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งสิ้น ส่วนเรื่องอื่นมักจะถูกมองข้าม นอกจากนี้ยังพบว่า กระบวนการศึกษาและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเทศไทยมิได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการพัฒนารัฐธรรมนูญ ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย หรือแก้ไขเพื่อปกป้องคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ และเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนแต่ประการใด หากแต่เป็นปรากฎการณ์ทางการเมือง เพื่อสนองเป้าหมายทางการเมือง โดยมีอำนาจของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันเข้ามาเกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารในที่สุด เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเน้นเนื้อหาที่มีหลักการของความเป็นประชาธิปไตย มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อป้องการเกิดวิกฤตของรัฐธรรมนูญและแก้ไขวิกฤติของประเทศ และควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของนักการเมืองให้มีความเคารพและให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น