Abstract:
พื้นที่ศึกษาอยู่บริเวณตอนเหนือของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 168.06 ตารางกิโลเมตร โดยมีลักษณะภูมิสัณฐานเป็นขอบด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราช มีลักษณะทางธรณีวิทยาเฉพาะตัว ทั้งนี้สามารถพบกลุ่มหินโคราชได้ทั่วไปในพื้นที่ศึกษา จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อแบ่งขอบเขตของหน่วยหิน แบ่งออกได้เป็น 4 หน่วยหิน คือ หน่วยหิน A, B, C และ D และจากการออกภาคสนาม เพื่อตรวจสอบข้อมูล ได้ข้อมูลดังนี้ หน่วยหิน A จัดเป็นหน่วยหินมอนโซแกรนิต (monzogranite) มีลักษณะของหน่วยหินเป็นพลูตอน (pluton) หน่วยหิน B พบหินดินดานและหินทราย โดยชั้นหินดินดานค่อนข้างหนาถูกแทรกด้วยชั้นหินทราย ทั้งนี้พบชั้นหินทรายเนื้อปานกลาง พบการวางชั้นเฉียงระดับสลับกับชั้นหินทรายเนื้อละเอียดถึงเนื้อละเอียดมาก พบการวางชั้นเฉียงระดับเช่นกัน จากการลำดับชั้นหินแบ่งได้ 12 ชั้นหิน จัดเป็น lithic graywacke ตาม Pettijohn et al. (1972) หน่วยหิน C พบชั้นหินทรายเนื้อหยาบ ชั้นหินแสดงลักษณะชั้นบางๆ แทรกสลับกับชั้นหินทรายเนื้อละเอียดมาก ชั้นหินทรายเนื้อละเอียด และชั้นหินทรายเนื้อหยาบ จากการลำดับชั้นหินแบ่งได้ 48 ชั้นหินจัดเป็น subarkose ตาม Pettijohn et al. (1972) และหน่วยหิน D พบลักษณะเป็นหินตะกอนที่ถูกแปรสภาพ จัดเป็นหินฟิลไลต์และหินชีสต์ แผนที่ธรณีวิทยาสามารถแบ่งได้เป็น 4 หน่วยหิน ดังนี้ หน่วยหินมอนโซแกรนิตวังน้ำเขียว, หมวดหินภูกระดึง, หมวดหินพระวิหาร และหน่วยหินแปรวังน้ำเขียว อีกทั้งจากการลำดับชั้นหินระบุได้ว่าหมวดหินภูกระดึง และหมวดหินพระวิหาร เกิดจากสภาพแวดล้อมการตกสะสมตัวในอดีตของระบบทางน้ำ ในแม่น้ำแบบโค้งตวัด (Meandering River) และแม่น้ำแบบประสานสาย (Braided River) ตามลำดับ สำหรับหมวดหินพระวิหารสามารถเทียบเคียงได้กับ Bijou Creek Type (Miall, 1977)