Abstract:
ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่มีผลทำให้โลกร้อนขึ้น โดยนาข้าวเป็นแหล่งหนึ่งที่ปล่อยก๊าซมีเทนเนื่องจากกิจกรรมมนุษย์ การศึกษาการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวชนิดนาสวนและนาข้าวขึ้นน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยวางแผนการทดลองแบบ randomized complete blocks ทำ 3 ซ้ำ ปลูกข้าวแบบนาหว่านด้วยวิธีการปลูกข้าวชนิดนาสวน ใช้ข้าวพันธุ์ กข 23,พันธุ์สุพรรณบุรี 90 และวิธีการปลูกข้าวชนิดนาข้าวขึ้นน้ำ ใช้ข้าวพันธุ์หันตรา 60, พันธุ์เล็บมือนาง 111 เก็บตัวอย่างก๊าซมีเทนโดยใช้กล่องครอบดักก๊าซใน 4 ระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าวคือ ระยะแตกกอ ระยะตั้งท้อง ระยะสร้างเมล็ด ระยะเมล็ดแก่ 6 ช่วงเวลา ตั้งแต่เวลา 6.00 ถึง 22.00 นาฬิกา วิเคราะห์ตัวอย่างก๊าซมีเทนด้วยวิธี gas chromatography (Flame Ionization Detector, FID) ผลการศึกษาพบว่า การปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวชนิดนาสวนและนาข้าวขึ้นน้ำตลอดฤดูกาลปลูกข้าวของพันธุ์สุพรรณบุรี 90, พันธุ์ กข. 23, พันธุ์เล็บมือนาง 111 และพันธุ์หันตรา 60 คือ 68.66, 63.720, 32.870 และ 15.200 กรัมต่อตารางเมตร ตามลำดับ หากประเมินการปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ปลูกข้าวนาปีของประเทศไทยด้วยพันธุ์สุพรรณบุรี 90, พันธุ์ กข 23, พันธุ์เล็บมือนาง 111 และพันธุ์หันตรา 60 คือ 5.539, 5.140, 2.652 และ1.226 เทระกรัมต่อปี ตามลำดับ (1 เทระกรัมเท่ากับ 1 ล้านต้น) ต้นข้าวเป็นทางผ่านก๊าซมีเทนสู่อากาศ อัตราเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 90, พันธุ์ กข 23, พันธุ์เล็บมือนาง 111 และพันธุ์หันตรา 60 คือ 20.570, 18.920, 7.216 และ 3.332 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรต่อชั้วโมง ตามลำดับ ระยะตั้งท้องของต้นข้าวนั้นพันธุ์ กข 23 และพันธุ์สุพรรณบุรี 90 มีอัตราการปล่อยก๊าชมีเทนสูงสุด ในขณะที่พันธุ์เล็บมือนาง 111 และพันธุ์พันตรา 60 เกิดขึ้นในระยะสร้างเมล็ด ดังนั้นลำดับของอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวสูงสุดคือพันธุ์สุพรรณบุรี 90, พันธุ์ กข 23, พันธุ์เล็บมือนาง 111 และพันธุ์หันตรา 60 ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวทั้งสองวิธีคือ ต้นข้าว พันธุ์ข้าว ความสูง ของพันธุ์ข้าว มวลชีวภาพของพันธุ์ข้าว ระดับน้ำภายในแปลงนา ความชื้นของดิน สภาพการขาดก๊าซออกซิเจนของดิน และความเป็นกรดเป็นด่างของดิน