Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลทำนายของความเข้มในการใช้เฟซบุ๊กและการเปรียบเทียบทางสังคมที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-24 ปี จำนวน 140 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัย คือ 1) มาตรวัดความเข้มในการใช้เฟซบุ๊ก 2) มาตรวัดการเปรียบเทียบทางสังคม และ 3) มาตรวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของโรเซ็นเบิร์ก ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) แบบเข้าสมการพร้อมกัน (Enter) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความเข้มในการใช้เฟซบุ๊กมีอำนาจในการทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -.201, p < .05) 2. การเปรียบเทียบทางสังคมมีอำนาจในการทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .529, p < .001) 3. ความเข้มในการใช้เฟซบุ๊กและการเปรียบเทียบทางสังคมสามารถร่วมกันทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (F = 29.856, p < .001) โดยสามารถร่วมกันทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองได้ร้อยละ 30.4
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016