Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงสุดท้ายและผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศจำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบประเด็นทางประสบการณ์ทางจิตใจทั้งหมด 4 ประเด็น คือ (1)ความยากลำบากในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อยคือ กระบวนการวิจัยไม่เป็นไปตามที่คิด และความพยายามในการทำเงื่อนไขการจบ (2)สภาวะจิตใจช่วงระหว่างกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย คือสภาวะจิตใจด้านบวก (ตื่นเต้นเรียนรู้สิ่งใหม่) และสภาวะจิตใจด้านลบ (ความไม่มั่นใจในความสามารถของตน , ความเครียดจากงานสะสม, ความท้อแท้ในการแก้ปัญหา,การหลีกหนีจากงาน) (3)การก้าวผ่านความยากลำบากในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย คือ การก้าวผ่านด้านงาน (การทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา, การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และการวางแผนทำวิทยานิพนธ์) และการก้าวผ่านด้านจิตใจ (การทำความเข้าใจปัญหา และการผ่อนคลายจากการทำงาน) และ(4)การเติบโตจากการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อยคือด้านการสร้างองค์ความรู้และด้านความเป็นมืออาชีพในการทำงาน จากผลการวิจัย อภิปรายผลได้ว่าผู้ให้ข้อมูลต้องมีการปรับตัวทั้งด้านการวางแผนและด้านจิตใจกับการเจอความไม่แน่นอนในกระบวนการทำวิทยานิพนธ์เพื่อการทำงานให้จบตามเงื่อนไขหลักสูตรที่มีระยะเวลาที่จำกัด โดยปัจจัยแวดล้อมช่วงระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนร่วมงาน ครอบครัวมีส่วนในการทำให้กระบวนการเป็นไปได้อย่างราบรื่น ได้มีการอภิปรายถึงแนวทางสำหรับการดูแลนักศึกษาอย่างเป็นมืออาชีพจากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารคณะ