Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาถึงการให้ความร่วมมือเป็นพยานบุคคลในคดีอาญาของประชาชนในสังคม (2) ศึกษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประสิทธิภาพของการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และ 3) เพื่อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมกับการคุ้มครองพยานบุคคลในสังคมไทย การวิจัยครั้งนี้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญจากกลุ่มประชาชนผู้ที่เดินทางมาขอรับบริการที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำนวน 400 คน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้รับไปทำการประมวลผลด้วยโปรแกรม SPSS วิเคราะห์หาค่าทางสถิติ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-Square และ t-test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการวิจัย พบว่า เพศชายให้ความร่วมมือเป็นพยานในคดีอาญามากกว่าเพศหญิงพยานที่ประกอบอาชีพแตกต่างกันให้ความร่วมมือเป็นพยานบุคคลในระดับที่แตกต่างกัน และพยานที่รู้สึกไม่ปลอดภัยให้ความร่วมมือเป็นพยานบุคคลในระดับต่ำ นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบต่อไปอีกว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการพิเศษในพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 อันได้แก่การเปลี่ยนแปลงชื่อ-นามสกุล การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และการจัดหาอาชีพให้ใหม่ แสดงให้เห็นว่ามาตรการพิเศษเหล่านี้ไม่สามารถทำให้พยานรู้สึกปลอดภัย ดังนั้น รัฐควรแสวงหามาตรการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยด้วย จึงจะมีผลทำให้พยานรู้สึกปลอดภัยอยากให้ความร่วมมือ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมต่อไป