Abstract:
ที่มาของงานวิจัย: จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมทั้งผู้ที่รอดชีวิต พบว่ามีจำนวนมากขึ้นทำให้ภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ภายหลังการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มมากขึ้นด้วย มีการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันจำนวนมาก พบว่ามีความสัมพันธ์ของตัววัดทางหัวใจ หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกลุ่มผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดกับภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังไม่มีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายฉบับพลันที่มีความเสี่ยงต่ำ วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัววัดทางหัวใจ และการเกิดผลลัพธ์ ทางระบบหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 60 วันหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน วิธีการดำเนินการ: ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันที่มีอาการไม่รุนแรงจำนวน 34 ราย ที่เข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในระหว่าง ตุลาคม 2547 ถึง พฤศจิกายน 2548 โดยการจัดเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจระดับ NT proBNP, hsCRP และ troponin T จำนวน 2 ครั้ง (24 ชั่วโมง และ วันที่ 14 หลังเกิดอาการ), ประเมินการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram) ทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางระบบหัวใจและหลอดเลือด (เสียชีวิต, ภาวะหัวใจวาย และ การเข้ารักษาตัวซ้ำด้วยอาการเจ็บหน้าอก) ภายในระยะเวลา 60 วัน ภายหลังเกิดอาการเจ็บแน่นอก
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัยทั้งสิ้น 34 ราย อายุเฉลี่ย 56.85 ปี (S.D. = 12.72) ปัจจัยเสี่ยงทางหัวใจและหลอดเลือดที่พบมากที่สุดคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง (ร้อยละ 67.6) และการสูบบุหรี่ (ร้อยละ 5.9) การทำงานหัวใจห้องล่างซ้ายเฉลี่ยร้อยละ 56.2 (S.D. = 8.4) พบ 6 รายมี cardiovascular outcomes (3 รายมีการเจ็บหน้าอกซ้ำ, 2 ราย เสียชีวิต และ 1 ราย เกิดภาวะหัวใจวาย) ระดับของ NT proBNP ในเลือดเฉลี่ยเท่ากับ 978.03 pg/L(16-6883), ระดับของ hsCRP ในเลือดเฉลี่ยเท่ากับ 9.18 mg/L (0.7-40.1) ระดับ troponin T เท่ากับ 7.39 ng/mL (0.1-21.26) เมื่อวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่าง ระดับ NT proBNP ที่ 24 ชั่วโมงแรก และวันที่ 14 หลังเกิดอาการ กับผลลัพธ์ทางระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.638, 0.617)