Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความแตกต่างของภูมิหลังทางประชากร เศรษฐกิจสังคม ของผู้ขับยานพาหนะทางบกที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยง (การดื่มสุรา การเคยใช้ยาม้า) และพฤติกรรมการป้องกันตนเอง(การใช้เข็มขัดนิรภัย) รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านภูมิหลังและพฤติกรรมดังกล่าวของผู้ขับยานพาหนะกับโอกาสในการประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากยานพาหนะทางบก โดยใช้ข้อมูลโครงการสำรวจเกี่ยวกับอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2539 ซึ่งดำเนินการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เลือกมาเฉพาะแต่ผู้ขับยานพาหนะทางบก (รถทุกประเภท ยกเว้นรถจักรยานยนต์) อายุ 18-59 ปี ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 8,018 คน จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิเคราะห์ตารางไขว้และทดสอบด้วยค่าไคสแควร์ โดยมีพฤติกรรมต่างๆเป็นตัวแปรซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากยานพาหนะทางบกโดยตรง ผลการศึกษาพบว่า การดื่มสุรา การเคยใช้ยาม้า และการใช้เข็มขัดนิรภัย ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนลักษณะภูมิหลังของผู้ขับรถที่ได้รับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากยานพาหนะทางบกเป็นอัตราส่วนที่สูง ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรถ อาชีพ โดยผู้ขับรถเพศชาย ผู้ขับอายุน้อยกว่า สถานภาพโสดและประกอบอาชีพขนส่งและคมนาคมมีความสัมพันธ์กับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อนำพฤติกรรมต่างๆ และภูมิหลังของผู้ขับรถเข้ามาวิเคราะห์แบบหลายตัวแปรในการวิเคราะห์สมการถดถอยโลจิท พบว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยมีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากยานพาหนะทางบกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ เมื่อมีการใช้เข็มขัดนิรภัย โอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บมีแนวโน้มน้อยลง ผู้ขับรถที่ประกอบอาชีพที่ใช้วิชาชีพหรือบริหาร มีโอกาสประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บน้อยกว่าผู้ขับรถที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับขนส่งและคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ขับรถที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางน่าจะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บมากกว่าผู้ขับที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ