Abstract:
การจัดหาโลหิตที่ปลอดภัยได้อย่างเพียงพอนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครนั้น มีการใช้โลหิตถึงร้อยละ 5 ของประชากรในกรุงเทพฯ และพบว่ายังมีการขาดแคลนในบางช่วงเวลาในบางประเภทของโลหิต ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดหาโลหิตและการใช้โลหิตของโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน100 แห่ง โดยการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (ระหว่างวันที่1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2547) ได้ส่งแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองไปยังหัวหน้างานธนาคารโลหิตหรือผู้แทนเป็นผู้ตอบและยังเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แ ละแบบบันทึกข้อมูลการขอใช้โลหิตจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ผลการศึกษา พบว่า อัตราการตอบกลับร้อยละ 74 (74จาก100แห่ง) แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ ร้อยละ80 (20แห่ง) และโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ72 (54แห่ง) โดยส่วนใหญ่ผู้ตอบเป็น เพศหญิงร้อยละ 68.9 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 40.5 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่งานธนาคารโลหิต ร้อยละ 60.8% โดยสายวิชาชีพ เป็นเทคนิคการแพทย์ถึงร้อยละ 91.9 และมีประสบการณ์การทำงานด้านธนาคารโลหิตเฉลี่ย 9.2 ปี สำหรับในการจัดหาโลหิตจะพบว่ารพ.ส่วนใหญ่ ขอจากศูนย์บริการโลหิต ร้อยละ 98.7 การรับบริจาคโลหิตในโรงพยาบาลเอง ร้อยละ 12.2 และการรับบริจาคโลหิตร่วมกับศูนย์บริการโลหิต ร้อยละ 8.1 และยังพบอีกว่ารพ.ส่วนใหญ่มีการขอโลหิตจากศูนย์บริการโลหิตเผื่อสำรองไว้สูงถึง ร้อยละ87.7 และโลหิตที่ขอไปก่อนใช้ไม่ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลซ้ำร้อยละ42.5 ส่วนอัตราส่วนเฉลี่ยการใช้โลหิตของผู้ป่วยนอนป่วยในโรงพยาบาลพบร้อยละ 18.2 โดยแยกเป็น รพ.รัฐ ร้อยละ 30.6 และรพ.เอกชน ร้อยละ 10.8 สำหรับชนิดของโลหิตที่ใช้บ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่ เม็ดโลหิตแดงเข้มข้น พลาสมาสดแช่แข็งและโลหิตที่ขจัดเม็ดโลหิตขาวส่วนใหญ่ออกไป เมื่อเปรียบเทียบการจัดหาโลหิตของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน พบว่า วิธีการรับบริจาคโลหิตจากแหล่งอื่นนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และยังพบว่าขนาดโรงพยาบาลที่แตกต่างกันนั้นทำให้การจัดหาโลหิตโดยวิธีขอจากศูนย์บริการโลหิต, จากแหล่งอื่น, อัตราเฉลี่ยการใช้โลหิตและส่วนประกอบของโลหิต มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) การศึกษา พบว่า การจัดหาโลหิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการในการใช้โลหิตของโรงพยาบาลซึ่งปัญหาที่ระบุจะเกิดจากการจ่ายล่าช้า โดยเฉพาะเกล็ดโลหิต ร้อยละ 57.5 ดังนั้นการจัดหาโลหิตและการใช้โลหิตอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทรัพยากรโลหิตนั้นถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ