Abstract:
การที่โครงสร้างประชากรของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีอัตราส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาการเลิกจ้างแรงงานสูงอายุ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยแรงงานในการสร้างรายได้มาเลี้ยงดู ตัวผู้สูงอายุเองที่ยังคงมีความต้องการทำงาน และกองทุนประกันสังคมที่มีภาระในการจ่ายประโยชน์ทดแทนที่มากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศได้มีแนวคิดในการจ้างแรงงานสูงอายุมาเป็นเวลานานแล้ว การส่งเสริมการจ้างแรงงานสูงอายุเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์ ได้นำมาใช้เพื่อให้มีการจ้างแรงงานสูงอายุมากขึ้น โดยหลักการสำคัญของมาตรการส่งเสริมนี้จะไม่มีลักษณะบังคับ นายจ้างมีหน้าที่ค่อยให้ความร่วมมือในการรายงานหรือแสดงปัญหาที่เกิดขึ้น บทบาทสำคัญจะอยู่ที่หน่วยงานของรัฐในการวางแนวทางการจ้างแรงงานสูงอายุ คอยดำเนินการติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์และเงินอุดหนุนแก่นายจ้างด้วย สำหรับประเทศไทย หากได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมการจ้างแรงงานสูงอายุเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่ประชากรสูงอายุได้มีอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดที่สูงขึ้นแล้วนั้น ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการเลิกจ้างแรงงานสูงอายุและผลกระทบต่างๆที่เกิดจากการเลิกจ้างแรงงานสูงอายุได้