Abstract:
ความเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุชักนำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดออกซิเดทีฟสเตรส เร่งให้เกิดพยาธิสภาพต่อหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายสม่ำเสมอและภาวะโภชนาการที่ดีน่าจะมีส่วนช่วยลดภาวะดังกล่าวได้ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบระดับการต้านอนุมูลอิสระ ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับการวิเคราะห์ผลจากการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแบบภาคตัดขวาง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ไม่กิจกรรมออกกำลังกายสม่ำเสมอ (SE, 17 คน) และที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (EE, 26 คน) และบุคคลวัยทำงานที่ไม่มีกิจกรรมออกกำลังกายสม่ำเสมอ (SY, 37 คน) และที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (EY, 12 คน) อาสาสมัครจดบันทึกอาหารที่รับประทานเป็นเวลา 4 วัน จากนั้นทำการเจาะเลือดในวันที่ 5 ทำการวิเคราะห์สถิติความแปรปรวนแบบหลายทางโดยพิจารณาปัจจัยด้านความชราและด้านการออกกำลังกาย การวิจัยพบว่าค่าปริมาณรวมของสารต้านอนุมูลอิสระในพลาสมา (TAS) และพลาสมาโฮโมซิสเตอีน (tHcy: ดัชนีบ่งชี้โรคหัวใจและหลอดเลือด) ขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยความชราและการออกกำลังกายพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะมีค่า TAS และ tHcy สูงกว่าในกลุ่มวัยทำงาน และในกลุ่มผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายมีระดับ TAS สูงกว่ากลุ่ม SE, EY และ SY (p<0.001) และมีระดับเอ็นไซม์กลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดสในเม็ดเลือดสูงกว่ากลุ่ม SY และ EY (p<0.05) ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ขาดการออกกำลังกายมีระดับ tHcy สูงกว่ากลุ่ม EE, EY และ SY (p<0.01) งานวิจัยนี้พบว่าค่า TAS ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกาย (r=0.337, p=0.002) ร้อยละของมวลไขมันในร่างกาย (r=0.402, p=<0.0001) ปริมาณวิตามินซีที่บริโภค (r=0.231, p=0.026) และค่า tHcy มีความสัมพันธ์แบบผกผันของกับระดับไฮเดนซิตี้ไลโปโปรตีนในพลาสมา (r=0.269, p=0.015) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของดัชนีชี้วัดการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (TBARS) ระดับวิตามินซีในพลาสมา และระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทสในเลือด งานวิจัยสรุปได้ว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีส่วนช่วยเพิ่มระดับการสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ