Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะศึกษานโยบายของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในช่วงก่อนและหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และเพื่อศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่มีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตน้ำตาลทรายในประเทศไทย การศึกษาผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ได้นำเอาแนวคิดพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สวัสดิการในเรื่องส่วนเกินของผู้บริโภคและส่วนเกินของผู้ผลิต มาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยทำการประมาณการสมการอุปสงค์และสมการอุปทานน้ำตาลทรายก่อน และคำนวณผลกระทบต่อผู้บริโภคน้ำตาลทรายจากผลต่างของส่วนเกินของผู้บริโภค ณ ระดับราคาภายในประเทศที่เกิดขึ้นจริง กับส่วนเกินของผู้บริโภค ณ ระดับราคาที่ไม่มีการแทรกแซงจากการใช้นโยบายของรัฐ และคำนวณ ผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำตาลทรายจากผลต่างของส่วนเกินผู้ผลิต ณ ระดับราคาที่ผู้ผลิตได้รับจริง กับส่วนเกิดของผู้ผลิต ณ ระดับราคาที่ไม่มีการแทรกแซงจากนโยบายของรัฐ ซึ่ง ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบจากนโยบายยกระดับราคาอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้แก่ มาตรการรับซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการส่งออก มาตรการควบคุมปริมาณการผลิต การนำเข้าและส่งออก มาตรการทางด้าน ภาษี นโยบายส่งเสริมการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเพื่อการส่งออก กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย นโยบายส่งเสริมการผลิตเอทานอล และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากระบบ 2 ราคา คือ กำหนดราคาจำหน่วยน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ผลการศึกษา พบว่า ผลกระทบจากนโยบายของรัฐภายหลังพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในช่วง พ.ศ. 2527 - 2546 ทำให้ผู้บริโภคน้ำตาลทรายในประเทศเสียประโยชน์รวมทั้งสิ้น 126,752 ล้านบาท ในขณะที่นโยบายดังกล่าวของรัฐทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลทรายในประเทศไทยได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 352,726 ล้านบาท โดยผลกระทบจากนโยบายของรัฐส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายยกระดับราคาอ้อยมากกว่านโยบายระบบ 2 ราคา