Abstract:
ปัจจุบัน ปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังขาดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถยับยั้งการกลับมากระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้พบว่าหลายประเทศได้ใช้แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) โดยวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัว (Family Group Conferencing) มาใช้เป็นทางออก แนวความคิดนี้ใช้วิธีแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดด้วยการนำผู้กระทำผิด บุคคลผู้ใกล้ชิด สมาชิกในครอบครัว ผู้เสียหาย บุคคลผู้ให้ความช่วยเหลือของทั้งสองฝ่ายและตัวแทนจากกระบวนการยุติธรรมมาพบกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกและวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้ เด็กจะได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนโดยมีครอบครัวเป็นผู้กำหนดโทษ เด็กจะไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันผู้เสียหายก็มีโอกาสที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย วิทยานิพนธ์นี้เสนอว่าการนำวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวมาใช้ในประเทศไทยนั้น ควรจะมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายรองรับโดยตรง เพื่อให้สามารถนำวิธีการดังกล่าวมาใช้เสมือนเป็นมาตรการในการหันเหคดีเฉพาะคดีที่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรกในความผิดไม่ร้ายแรง หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทออกจากระบบการดำเนินคดีอาญาได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และเมื่อได้ดำเนินการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วให้ถือว่ากระบวนการในการดำเนินคดีเป็นอันยุติลงทันที ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้โอกาสทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติแก่เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดได้มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง