Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและอธิบายปัจจัยตัวบุคคล เทคโนโลยี แรงจูงใจ ในการใช้งานเทคโนโลยี สถานภาพการเข้าถึง การใช้งาน และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ของกลุ่มผู้จะก้าวสู่วัยสูงอายุ และผู้สูงอายุวัยต้น และสังเคราะห์สร้างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการ พัฒนาภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2562 - มิถุนายน 2563 ดำเนินการวิจัยด้วยวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) โดยการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีกลุ่มตัวอย่างอายุ 50-70 ปีทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ระยอง สงขลา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,400 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 44 คน และผู้ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ 50-59 ปี จำนวน 20 คน จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการศึกษากรณีตัวอย่างผู้สูงอายุ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างความสัมพันธ์ สร้างรายได้ และผลผลิตชุมชน รวม 10 กรณีตัวอย่าง นำผลการวิจัยมาสังเคราะห์สร้างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุ ผลการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งใช้งานอินเทอร์เน็ตมามากกว่า 5 ปี มีความคล่องแคล่วในการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง เกือบทั้งหมดมีโทรศัพท์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จำนวนมากกว่าครึ่งจ่ายค่าบริการแบบเหมา จ่ายรายเดือน มีค่าใช้จ่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ระหว่าง 300-600 บาทต่อเดือน ราคาโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ใช้มีราคาระหว่าง 3,001-7,000 บาท แรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีกลุ่มอายุ 50-54 ปี อยู่ระดับมาก ในขณะที่กลุ่มอายุ 55-70 ปี อยู่ระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างมีการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 5-6 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที -1 ชั่วโมง โปรแกรมที่ใช้มากที่สุดคือ ไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ โดยใช้สนทนา อ่านข่าวติดตาม ข่าวสารในระดับมาก ในขณะที่ใช้สืบค้นข้อมูลและโพสต์ข้อความในระดับปานกลาง และรับส่งอีเมล ซื้อสินค้าออนไลน์ และโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันในระดับน้อย และสร้างเนื้อหาด้วยตนเองในระดับ น้อยที่สุด ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อยู่ในระดับมาก แต่ด้านสร้างรายได้ กลุ่มอายุ 50-54 ปี อยู่ในระดับน้อย และกลุ่มอายุ 55-70 ปี อยู่ในระดับน้อยที่สุด การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้สูงอายุกลุ่ม 60-70 ปี อยู่ระดับปานกลาง ในขณะที่กลุ่มผู้จะก้าวสู่วัย ผู้สูงอายุ กลุ่ม 50-59 ปี อยู่ระดับมาก ผลการวิจัยเชิงคุณภาพอธิบายเชิงลึกเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี ของผู้สูงอายุ ได้แก่ อาชีพ การเรียนรู้จากเทคโนโลยี ทักษะความสามารถ/การพัฒนาตนเอง ความ ซับซ้อนยุ่งยากของเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและความคุ้มค่า บุตรหลานที่อยู่ ห่างไกลเป็นแรงผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารใกล้ชิดกัน ผู้สูงอายุมีอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ ปัญหาทางด้านสายตา การหลงลืม ภาษาอังกฤษ ความกังวลเรื่องความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้งาน ผู้สูงอายุต้องการการสนับสนุนด้านการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ต้องการ เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน การสอนเรื่องของการใช้สื่อออนไลน์ในการขายสินค้าชุมชน สร้างเพจหรือการผลิตเนื้อหาออนไลน์ และธุรกิจการสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ กรณีตัวอย่างผู้สูงอายุที่สามารถใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างพฤฒิพลังได้ มาจากความเป็น ตัวตน ความคิด ความรู้ ทักษะ ความสามารถที่สั่งสมมานานของผู้สูงอายุ การก้าวข้ามอุปสรรคด้าน เทคโนโลยีด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเองและการสอนจากบุตรหลาน การสนับสนุนจากหน่วยงานและ องค์กรสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้การเชื่อมโยงระหว่างรุ่นวัยเป็นปัจจัย นอกจากนี้กรณีตัวอย่างสะท้อน ให้เห็นว่าการหารายได้แบบอิสระบนสื่อออนไลน์ เป็นเส้นทางสู่ความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุได้ งานวิจัยสร้างข้อเสนอเพื่อการพัฒนาพฤฒิพลังผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงอายุยุคดิจิทัล เน้น การเตรียมพร้อมให้ผู้สูงอายุสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมี ความมั่นคงทางรายได้ มีความสามารถในการสร้างผลผลิตชุมชนได้ ประกอบด้วยข้อเสนอเชิงนโยบาย 2 ด้านหลัก ได้แก่ แนวนโยบายสวัสดิการพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และคุณภาพชีวิตในสังคมผู้สูงอายุ 5G และ แนวนโยบายด้านความมั่นคงในชีวิตผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี